การเล่นแช…

การเล่นแชร์ผิดกฎหมายไหม

        ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 การเล่นแชร์ คือ การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป โดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย

สมาชิกวงแชร์มีใครบ้าง

       สมาชิกวงแชร์จะมีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายหลัก ๆ ดังนี้

1.ท้าวแชร์ คือ สมาชิกในวงแชร์คนหนึ่งทำหน้าที่รับเงินจากสมาชิกทุกคน มาเก็บรักษาเอาไว้เป็นเงินกองกลาง และจัดการให้สมาชิกได้รับเงินกองกลางตามวิธีที่ตกลงกันไว้

2.ลูกแชร์ คือ บุคคลที่ตกลงร่วมกันเล่นแชร์ โดยแต่ละคนมีหน้าที่ต้องส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่ตกลงกัน เข้าทุนกองกลางให้ครบเป็นงวด ๆ ไป เพื่อให้สมาชิกในวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป

การเล่นแชร์ผิดกฎหมายไหม

      หลายคนอาจเคยเห็นโฆษณาเชิญชวนให้ร่วมเล่นแชร์ออนไลน์ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แต่ตามกฎหมายการเล่นแชร์ ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ดังนั้น การร่วมเล่นแชร์ในวงแชร์ต่าง ๆ ไม่ผิดกฎหมาย แต่จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป 

 

บุคคลล้มล…

บุคคลล้มละลายคืออะไร

     บุคคลล้มละลาย คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จนศาลพิพากษาสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

     บุคคลล้มละลายทุจริต คือ กรณีที่บุคคลล้มละลายกระทำการฉ้อฉล หรือมีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินของตัวเอง เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามที่ควรจะเป็น เช่น การจำหน่าย โอนย้าย หรือให้ผู้อื่นซ่อนเร้นทรัพย์สินของตัวเองเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ยึด หรืออายัดทรัพย์สินนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือเจ้าหนี้พิสูจน์ได้ว่า บุคคลล้มละลายมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ศาลอาจพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

สาเหตุของการเป็นบุคคลล้มละลาย


1.เป็นบุคคลธรรมดา มีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท

2. เป็นนิติบุคคล มีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านบาท

3. เป็นผู้ที่มีแนวโน้ม มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ ไม่มีความสามารถที่จะชำาระหนี้ได้

การตกเป็นบุคคลล้มละลายส่งผลอะไรต่อชีวิตบ้าง ?

1.ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร การโอนเงิน การถอนเงิน เป็นต้น

2. ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับราชการได้

3. ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัท หากมีความจำเป็น จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน จึงจะดำรงตำแหน่งได้
4.ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ถ้าความจำเป็นจริงๆต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน

การพันสภาพจากบุคคลล้มละลายมีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง ?

ㆍมีคำสั่งปลดจากการเป็นบุคคลลัมลาย

ㆍ การล้มละลายจะถูกปลดทันที เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีหลังถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่หากเคยล้มละลายมาก่อน อาจถูกยืดระยะเวลาออกไปเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี

ㆍ หลังจากที่มีคำสั่งปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย สามารถกลับไปใช้ชีวิต และได้รับสิทธิ์ในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ (หลุดพันจากภาระหนี้ที่ต้องชำระ) ยกเว้นในส่วน
หนี้สินที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร / หนี้สินที่เกิดขึ้นจากการทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย

3 อาชีพที…

3 อาชีพที่ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติหรืออนุมัติยากมาก

1.อาชีพสีเทา 
     ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้จากหวยใต้ดิน, เปิดบ่อนการพนัน, การปล่อยเงินกู้นอกระบบ และอาชีพที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายต่างๆ โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์มักจะน้อยมาก

2.ธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์
     ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจที่มีหน้าร้านหรือไม่มีหน้าร้าน รวมถึงการประกอบธุรกิจออนไลน์ หากว่าไม่มีการจดทะเบียนพาณิชย์ (หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่าจดทะเบียนการค้า) ก็มักจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์ เนื่องจากถูกมองว่าไม่มีความมั่นคง ไม่มีหลักแหล่งกิจการที่ชัดเจน และไม่สามารถตรวจสอบแหล่งรายได้อย่างตรงไปตรงมา เสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงได้

3.อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์
      อันที่จริงแล้วผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือ Freelance ยังพอมีโอกาสได้รับการอนุมัติสินเชื่อ เพียงแต่จะมีเงื่อนไขมากกว่าผู้ที่ทำงานประจำนิดหน่อย โดยจะต้องเน้นเอกสารที่แสดงถึงรายรับที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง (เช่น Statement บัญชีธนาคาร) รวมถึงหลักฐานการประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ เช่น สัญญาว่าจ้าง, ใบเสนอราคา, ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย, หนังสือรับรองการทำงาน (กรณีมีสังกัดชัดเจน), สัญญาเช่าสถานที่, โฉนดที่ดิน, ภาพถ่ายหน้าร้าน และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะอาชีพของผู้กู้แต่ละราย

จะเกิดอะไ…

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อขาดต่อพ.ร.บ.

   การมี พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) เป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถทุกคนในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองทั้งในด้านกฎหมายและความปลอดภัยทางการเงิน หากคุณขาดต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ จะมีผลกระทบหลายด้าน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ 

1.มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

     การขาดต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบว่า พ.ร.บ. ของรถยนต์ของคุณหมดอายุ คุณจะถูกปรับเป็นเงินสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท การจ่ายค่าปรับนี้ถือเป็นการเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นและสามารถหลีกเลี่ยงได้หากต่อ พ.ร.บ. ให้ทันเวลา

2.ไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้

      การต่อภาษีรถยนต์ประจำปีเป็นข้อบังคับตามกฎหมาย ซึ่งต้องทำพร้อมกับการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ดังนั้นหากคุณขาดต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ คุณจะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ ส่งผลให้การใช้งานรถยนต์ของคุณไม่ถูกต้องตามกฎหมายและอาจถูกปรับเพิ่มเติม

3.หากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง

      พ.ร.บ. รถยนต์มีบทบาทสำคัญในการให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในกรณีเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยต่างๆ หากคุณขาดต่อ พ.ร.บ. และเกิดอุบัติเหตุ คุณจะไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ. ซึ่งอาจทำให้คุณต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงมาก

4.ไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ. และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เองทั้งหมด

     เมื่อขาดต่อ พ.ร.บ. คุณจะไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งในกรณีที่คุณเป็นผู้บาดเจ็บเองหรือมีผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุที่คุณเป็นฝ่ายผิด ซึ่งหมายความว่าคุณต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายได้ในกรณีที่ต้องหยุดงาน หรือแม้แต่ค่าชดเชยให้กับผู้ประสบภัยอื่นๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจมีมูลค่าสูงมากและเป็นภาระทางการเงินที่หนักหน่วง

      การขาดต่อ พ.ร.บ. มีผลกระทบอย่างมากต่อความปลอดภัยทางการเงินและความคุ้มครองทางกฎหมายของคุณ การต่อ พ.ร.บ. ให้ทันเวลาเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้คุณได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมและไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดการคุ้มครอง นอกจากนี้ยังเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและป้องกันการถูกปรับที่ไม่จำเป็น

ดอกเบี้ยค…

ดอกเบี้ยคงที่ VS ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก ต่างกันอย่างไร

        ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เรารู้จักกันดี มี 2 ประเภท คือ กับดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) กับ ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ซึ่งดอกเบี้ยแบบคงที่กับดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกมีความแตกต่างกันดังนี้

ดอกเบี้ยแบบคงที่ คืออะไร?

    ดอกเบี้ยแบบคงที่ คือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้กู้กำหนดไว้ตายตัว โดยจะไม่มีการปรับตลอดการทำสัญญา โดยคำนวณจากจำนวนเงินต้นที่ขอสินเชื่อ และนำมาหารกับจำนวนงวดที่ต้องจ่ายในอัตราการคิดดอกเบี้ยที่เท่ากันในแต่ละครั้งของการชำระหนี้ จนกว่าผู้ขอสินเชื่อจะจ่ายครบตามสัญญากู้ที่ได้ตกลงร่วมกันไว้

ข้อดี 

1.อัตราดอกเบี้ยคงที่ สามารถวางแผนการใช้เงินได้ง่ายขึ้น

2.เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะผ่อนจ่ายไปเรื่อย ๆ ไม่รีบปิดยอด

ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก คืออะไร?

      ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก คือ ดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนเงินต้นที่ผู้ขอสินเชื่อได้ชำระในแต่ละงวด โดยดอกเบี้ยจะลดลงเรื่อย ๆ ตามเงินต้นที่ลดลง เนื่องจากถูกหักออกไปจากการชำระหนี้งวดก่อนหน้า

ข้อดี

1.อัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนเงินต้นที่ผู้ขอสินเชื่อได้ชำระในแต่ละงวด โดย ดอกเบี้ยจะลดลงเรื่อย ๆ ตามเงินต้นที่ลดลง

2.เหมาะสำหรับผู้ที่คิดว่าตนเองมีกำลังมากพอที่จะนำเงินมาปิดยอดได้ไว 

รู้ทัน! ร…

รู้ทัน รูปแบบกลโกงจากมิจฉาชีพ

     แต่ละวันที่เราต้องพบเจอมิจฉาชีพหลากหลายรูปแบบ จนบางครั้งเราก็หลงเชื่อและมีผู้คนตกเป็นเหยื่อมากมาย เพราะเดี๋ยวนี้มิจฉาชีพร้ายกาจมากขึ้น มักหาวิธีใหม่ๆ มาหลอกขโมยเงินในบัญชีอยู่เสมอ วันนี้เลยแชร์ข้อมูลให้ทุกคนได้รู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ว่ามีกลโกงอะไรบ้างและเรามีวิธีป้องกันได้อย่างไรไปดูกัน

     มิจฉาชีพหรือคนร้ายใช้วิธีส่งลิงก์ที่สร้างขึ้น โดยแอบอ้างบริษัทต่างๆ ว่าเหยื่อคือผู้โชคดีได้รับรางวัลได้สิทธิซื้อสินค้าราคาพิเศษ ได้โรงแรมที่พักฟรี หรือได้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่เหยื่อต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับสิทธิดังกล่าว

     เมื่อเหยื่อเผลอกรอกข้อมูลไปก็จะเริ่มติดต่อเหยื่อ ให้ต้องชำระค่าธรรมเนียม หรือชำระภาษี หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถอ้างแล้วทำให้เหยื่อหลงเชื่อก่อนที่จะรับรางวัล

     พอเหยื่อหลงกลชำระค่าธรรมเนียม หรือภาษี คนร้ายก็ปิดช่องทางติดต่อไป

     คนร้ายมักจะแอบอ้างบริษัทใหญ่ๆ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ง่ายต่อการหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อ

     ก่อนจะได้รางวัล หรือสิทธิพิเศษ จะต้องให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวก่อน

     ก่อนได้จะรางวัล หรือสิทธิพิเศษ ต้องชำระค่าธรรมเนียม หรือ ชำระภาษี

วิธีป้องกัน

    วิธีที่ 1 ไม่หลงเชื่อสายที่ได้รับหรือข้อความว่าเราเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลพิเศษ ผ่านทางโลกออนไลน์

    วิธีที่ 2  ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัวให้กับผู้ใด ยิ่งเป็นการแจ้งว่าเราได้รับสิทธิพิเศษ ยิ่งต้องระวังให้มากขึ้น ลบข้อความนั้นทิ้งทันทีปลอดภัยที่สุด

   วิธีที่ 3  ไม่หลงกลจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าภาษีใดๆ ผ่านทางระบบออนไลน์ ก่อนที่เราจะได้ไปพบ ผู้แจกรางวัล ตัวเป็นๆ เพื่อความมั่นใจว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง

   วิธีที่ 4 ต้องมีสติ เหนืออารมณ์ อย่าหลงเชื่อกลลวง

   วิธีที่ 5 ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซด์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรางวัลนั้นๆ

รู้จัก กา…

รู้จัก การจำนอง

              จำนองก็เป็นหลักประกันหนี้อีกประการหนึ่ง จำนองคือการใครคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่ดิน บ้านเรือนเป็นต้น ไปตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนองหรือนัยหนึ่งผู้จำนองเอาทรัพย์สินไปทำหนังสือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนองให้เจ้าหนี้ผู้จำนองอาจเป็นตัวลูกหนี้เอง หรือจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ เช่น นายดำ กู้เงินนายแดง 100,000 บาท เอาที่ดินของตนเองจำนองหรือนายเหลืองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเอาที่ดินจำนองจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินเป็นประกันหนี้นายดำ ก็ทำได้เช่นเดียวกันเมื่อจำนองแล้วถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้ก็มีอำนาจยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้และมีสิทธิพิเศษได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ธรรมดาทั่วไป
          กู้เงินแล้วมอบโฉนด หรือ น.ส. 3 ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้มิใช่จำนองเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิพิเศษเป็นเพียงเจ้าหนี้ธรรมดา แต่มีสิทธิยึดโฉนดหรือ น.ส. 3 ไว้ตามข้อตกลงจนกว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ฉะนั้นถ้าจะทำจำนองก็ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้อง 

      ทรัพย์สินที่จำนอง :
               ทรัพย์สินที่จำนองได้ คืออสังหาริมทรัพย์อันหมายถึง ทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น ที่ดิน บ้านเรือน เรือกสวนไร่นาเป็นต้น นอกจากนั้นสังหาริมทรัพย์ คือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้บางอย่าง เช่นเรือกำปั่น เรือกลไฟ แพ ที่อยู่อาศัย และสัตว์พาหนะ ถ้าได้จดทะเบียนไว้แล้วก็อาจนำจำนองได้ดุจกันเมื่อเจ้าของทรัพย์นำไปจำนองไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนองให้แก่เจ้าหนี้เจ้าของยังครอบครองใช้ประโยชน์เช่น อยู่อาศัยในบ้าน หรือทำสวนทำไร่หาผลประโยชน์ได้ต่อไปนอกจากนั้นอาจจะโอนขายหรือนำไปจำนองเป็นประกันหนี้รายอื่นต่อไป ก็ย่อมทำได้ส่วนเจ้าหนี้นั้นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์ไปจดทะเบียนจำนองก็นับได้ว่าเป็นประกันหนี้ได้อย่างมั่นคงไม่จำเป็นต้องเอาทรัพย์นั้นมาครอบครองเอง

โฉนดที่ดิ…

โฉนดที่ดินบอกอะไรเราได้บ้าง?

       ที่ดินถือเป็นสินทรัพย์อันมีค่า เมื่อต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินเช่น การจำนำหรือจดจำนอง สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ “โฉนดที่ดิน” ซึ่งโฉนดที่ดินคือ เอกสารสิทธิ์ที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้ง ขอบเขตและลักษณะของที่ดิน รูปแผนที่ของที่ดิน ขนาดหน้ากว้างที่ดิน นิติกรรมต่างๆ ที่เคยจดทะเบียน รวมไปถึงข้อจำกัดของที่ดิน ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินและผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะซื้อ ขาย จำนำ จำนองที่ดิน ทุกคนจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ บนโฉนดที่ดิน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากการทำนิติกรรมต่างๆ

5 เคล็ดลั…

5. เคล็ดลับ เพื่อสุขภาพการเงินที่ดี

1.ประกาศเจตนารมณ์การออม

ออมเงินอย่างจริงจัง หันมาใช้ชีวิตแบบ ออมก่อน ใช้ทีหลัง โดยออมให้พอเหมาะพอดี ไม่ตึงหรือไม่หย่อนจนเกินไป

2.แยกระหว่าง “ความจำเป็น” กับ “ความอยาก”

ก่อนตัดสินใจซื้อของชิ้นหนึ่ง ให้หยุดคิดและชั่งใจว่าของชิ้นนั้นเป็นของจำเป็นหรือแค่อยากได้ หากซื้อแล้วคุ้มค่าหรือไม่ ได้ใช้หรือเปล่า

3.สำรองเงินยามฉุกเฉิน

อย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะเรื่องไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ การเตรียมเงินสำรองเอาไว้ก้อนหนึ่งเพื่อรับมือกับเรื่องฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

4.จดทุกรายการรับจ่าย

การรู้เท่าทันสถานการณ์ทางการเงินจะช่วยให้คุณสามารถตัดค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปได้

5.มุ่งมั่นใช้หนี้

หนี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันทางการเงินของคุณย่ำแย่ลง พยายามปลดหนี้ เพื่อเดินไปสู่อิสรภาพทางการเงินโดยเร็ว

วางแผนการ…

วางแผนการเงินฉบับพนักงานประจำ

      การวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่ว่าช่วงวัยไหนก็ควรให้ความสำคัญ ยิ่งเมื่อเราเริ่มทำงานมีรายได้ในบทความนี้จะมาแนะนำว่าเรื่องใดบ้างที่ควรให้ความสำคัญในการวางแผนการเงินแบบฉบับพนักงานประจำ

1.การบริหารเงินเดือน

      การบริหารจัดการเงินเดือนให้เพียงพอใช้ในแต่ะเดือนถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่มักจะพึ่งรายได้จากงานประจำ แต่ส่วนน้อยที่จะหางานเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ดังนั้นการบริหารจัดการเงินเดือนจึงเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากหากใช้แบบไม่บริหารจัดการในแต่ละเดือนอาจไม่พอใช้จ่ายและทำให้ต้องไปก่อหนี้ใหม่เพื่อมาใช้ในชีวิตประจำวัน

2.ภาษี

      สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ที่มีรายได้ เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่สำคัญที่ควรรู้ เพราะหากไม่ใส่ใจและโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ นอกจากนี้แล้วยังควรรู้วิธีการในการคำนวณ เพื่อให้เราสามารถวางแผนในการลดหย่อนภาษีจะทำให้เราช่วยประหยัดเงินในส่วนนี้ไปได้มาก

3.การจัดการหนี้

      การเป็นหนี้ไม่ได้แย่ แต่ต้องรู้จักวิธีบริหารจัดการ และการจ่ายหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ ก่อนก่อหนี้ควรศึกษาเงื่อนไขของการกู้นั้นๆ ศึกษาข้อมูลการคิดดอกเบี้ย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่พนักงานควรรู้เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมา ปัญหาหนี้จะทำให้ไม่มีสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

4.สวัสดิการในการรักษาพยาบาล

       สิ่งที่เราควรรู้อีกเรื่องเลยนั้นก็คือสวัสดิการในการรักษากรณีที่เราเข้าโรงพยาบาล เพราะเหตุการที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด เราจึงต้องทราบว่าเรามีสวัสดิการในส่วนนี้อย่างไรบ้าง แล้วเราควรเพิ่มความคุ้มครองในการรักษาตรงนี้อย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้กระทบกับสภาพคล่องทางการเงินหากเกิดต้องรักษาพยาบาลจริงๆ