
9 มุกของม…

9 มุกของมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน
- หลอกให้รักแล้วให้โอนเงิน มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นๆ ด้วยการใช้รูปโปรไฟล์คนหน้าตาดี หรือน่าเชื่อถือ ผ่านการติดต่อจาก Social media ต่างๆ เช่น Facebook, Instragram หรือ Twitter เป็นต้น คุยติดต่อให้เหยื่อไว้ใจแล้วหลอกให้โอนเงิน หรือส่งของให้
ตั้งสติ และป้องกันตัว… จำไว้เสมอว่าการหลอกลวงจากเหล่ามิจฉาชีพนี้ ส่วนใหญ่จะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่ผู้รับสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตัวตนใดๆ เพราะจะได้ยากต่อการติดตาม และในส่วนของการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการใดๆ ก็ตามนั้น ให้สังเกตว่าส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะไม่ติดต่อกับประชาชนโดยตรง แต่หากมีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่จริงๆ ก็จะดำเนินการโดยมีเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และเราควรมีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรงก่อนที่จะดำเนินการโอนเงินกลับ
- อ้างเป็นคนรู้จัก มิจฉาชีพจะใช้ความสัมพันธ์ในการเป็นครอบครัวใหญ่ของคนไทย ด้วยการเป็นญาติ พี่น้อง หรือเพื่อน มาหลอกลวงให้โอนเงินให้ โดยการใช้ Social Network
ตั้งสติ และป้องกันตัว… เมื่อได้รับข้อความจากช่องทางโซเชียลมีเดีย ต่างๆ ในลักษณะการขอยืมเงิน หรือขอให้โอนเงิน ทางที่ดีเราควรโทรฯ เช็กเพื่อยืนยันตัวตนให้ชัดเจนก่อน และควรเข้าไปดูหน้า feed เพื่อพิจารณาลักษณะการโพสต์ และหากยิ่งเป็นญาติพี่น้อง หรือเพื่อนที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้วอยู่ๆ ทักมา ยิ่งต้องระวังไว้ให้ดี
- หลอกให้ลงทุน มิจฉาชีพจะหลอกลวงมาในรูปแบบ “แชร์ลูกโซ่” เป็นส่วนใหญ่ ด้วยการเชิญชวนให้หารายได้เสริมที่มีรายได้ดี แต่ไม่ต้องทำงานหนัก จูงใจด้วยการใช้จิตวิทยาโน้มน้าวให้เหยื่อสมัครเป็นสมาชิก และหาสมาชิกรายอื่นๆ เพิ่ม
ตั้งสติ และป้องกันตัว… เมื่อมีการชักชวนในลักษณะนี้เกิดขึ้น ให้เราศึกษาที่มาที่ไปของธุรกิจนี้ให้ดีก่อน และดูว่าธุรกิจที่จะลงทุนนี้มีใบขออนุญาตทำธุรกิจจริงหรือไม่ ที่สำคัญคือเราไม่ควรไว้ใจหรือเกรงใจใครจนไม่กล้าปฏิเสธ แม้ว่าคนที่ชวนนั้นจะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวก็ตาม และควรหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับกลุ่มธุรกิจที่ไม่แน่ใจ เพราะคนกลุ่มนี้จะใช้จิตวิทยาหว่านล้อมจนทำให้เรายากที่จะทำการปฏิเสธ
- อ้างช่วยเรื่องสินเชื่อได้ มิจฉาชีพจะอ้างกับเหยื่อว่าสามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่ธนาคารให้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่มีประวัติทางการเงินไม่ดีได้ แต่ขอให้เหยื่อจ่ายค่าจ้างในการเจรจาก่อนจึงจะไปเจรจาให้
ตั้งสติ และป้องกันตัว… ส่วนใหญ่พวกที่เป็นมิจฉาชีพนี้จะร้องขอค่านายหน้าก่อนที่จะช่วยเหลือเหยื่อ เพราะจริงๆ แล้วมิจฉาชีพไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ นอกจากนี้ สถาบันการเงินมีเงื่อนไขและเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่จะขอกู้ได้จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด
- ขโมย หรือปลอมแปลงบัตรเครดิต / เดบิต / ATM มิจฉาชีพต้องการข้อมูลจากบัตรของเรา ไม่ว่าจะเป็นเลขที่บัตร รหัส และข้อมูลในส่วนต่างบนบัตร หรือแม้แต่การเอาบัตรนั้นๆ มาเอาเงินจากบัญชีเราออกไป ซึ่งอาจจะด้วยการขโมยบัตร หรือใช้การขโมยข้อมูลในแถบแม่เหล็ก ที่เรียกว่า “Skimmer”
ตั้งสติ และป้องกันตัว… หลีกเลี่ยงการใช้บัตรกับตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในสถานที่เปลี่ยว หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ให้สังเกตว่าตู้เอทีเอ็มมีลักษณะผิดปกติหรือไม่ และถ้าใช้บัตรในการชำระค่าสินค้าและบริการ ก็ให้เราไปอยู่ในบริเวณที่มองเห็นการทำรายการ เพื่อป้องกันพนักงานนำบัตรไปรูดกับเครื่องคัดลอกข้อมูล และควรหลีกเลี่ยงการใช้บัตรกับร้านค้าที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตได้ เช่น ปั๊มน้ำมัน หรือสถานบันเทิง เป็นต้น เคล็ดลับเล็กๆ สำหรับการป้องกันการนำข้อมูลบนบัตรไปใช้ก็คือ ติดสติ๊กเกอร์ปิดเลขรหัส CVV ด้านหลังบัตรไว้เสมอ
- ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพที่มาลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวนี้ส่วนใหญ่จะทำงานกันเป็นทีมหรือเป็นขบวนการ ด้วยการเริ่มติดต่อเข้ามาโดยใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ แอบอ้างตัวเองเป็นหน่วนงานโน่นนี่นั่น แล้วสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อตกใจโดยอ้างถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายของเหยื่อ หรือใช้จุดอ่อนจากความกลัวมาเป็นมุกในการหลอกลวง
ตั้งสติ และป้องกันตัว… สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจเลยคือ จะไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วนงานใดๆ แจ้งขอข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเจอกรณีแบบนี้ให้สงสัยได้ทันทีว่ากำลังถูกหลอกลวงแน่นอน เพราะฉะนั้นก็อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น และหลังจากนั้นก็ทำการตรวจสอบโดยโทรกลับไปสอบถามหรือไปแจ้งที่ธนาคารโดยตรง
- อ้างว่าแลกกับเงินก้อนโต มิจฉาชีพจะใช้ความโลภที่ทุกคนมี มาใช้หลอกให้เหยื่อหลงเชื่อนำเงินจำนวนน้อยกว่ามาแลกกับเงินหรือรางวัลที่จะได้รับมากกว่า
วิธีสังเกต และป้องกัน… เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้อย่าเพิ่งหลงเชื่อและเอาเงินให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้ เราควรตรวจสอบหมายเลขที่กำกับอยู่ในลอตเตอรี่หรือเอกสารนั้นๆ ก่อนว่า เป็นของจริงหรือไม่ และควรคิดไว้เสมอว่าเรื่องแบบนี้เป็นไปได้ยากเพราะถ้ามีการถูกรางวัลจริงๆ คนเหล่านี้มักจะไม่มาบอกเราแน่นอน
- ร้านค้าปลอม แอบอ้างเป็นร้านค้า โฆษณาขายของราคาถูก จัดโปรโมชั่น Sale สินค้า แบบลด แลก แจก แถม เพื่อให้ขาช้อปทั้งหลายตาลุกวาว และหลงโอนเงินให้มิจฉาชีพ แต่เหยื่อกลับไม่ได้สินค้าตามต้องการ
ตั้งสติ และป้องกันตัว… เมื่อเกิดความต้องการอยากได้สินค้าอะไรสักอย่างควรศึกษาและตรวจสอบร้านค้าที่จะสั่งซื้อให้ดีว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ส่วนการชำระเงินนั้นถ้าเป็นไปได้ควรขอชำระเงินปลายทาง คือต้องเห็นสินค้าก่อนแล้วจึงจ่ายตังค์
- หลอกร้านว่าโอนเงินแล้ว มิจฉาชีพในลักษณะนี้จะเป็นพวกที่หลอกลวงซื้อของ หรือสั่งของจากร้านค้า และขอเครดิตและจ่ายเงินหรือโอนเงินในภายหลัง ซึ่งเหยื่อที่เป็นร้านค้าพวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะได้รับการสั่งของเป็นจำนวนมาก และยอมส่งของให้ก่อนที่จะเก็บเงิน
ตั้งสติ และป้องกันตัว… การทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม ในส่วนของร้านค้านั้นจะต้องมีการตรวจสอบลูกค้าที่เข้ามาโดยเฉพาะรายใหม่ที่สั่งของเป็นจำนวนมากๆ ดูให้ดีว่าลูกค้ารายนั้นมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่ ส่วนเรื่องของเครดิตการชำระเงินก็ควรเช็กให้ดีก่อนจะดำเนินการในส่วนนี้