บทความ

ขั้นตอนกา…

ขั้นตอนการขอ พ.ร.บ. รถใหม่ เมื่อทำ พ.ร.บ.รถหาย

     พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นประกันภัยภาคบังคับที่กำหนดให้รถยนต์ที่ใช้งานไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถกระบะ รถบรรทุก รถมอเตอร์ไซค์รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ต่อพ่วงด้านข้าง รวมถึงรถพยาบาล รถดับเพลิง รถลาก รถพ่วงด้วย

     เมื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. รถแล้ว เราจะได้กรมธรรม์มาฉบับหนึ่ง โดยส่วนท้ายของกรมธรรม์ จะใช้เป็นหลักฐานการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี และตัวกรมธรรม์และใช้ยื่นเมื่อเรียกร้องสินไหมกรณีเกิดอุบัติเหตุ

     เมื่อไม่มี พ.ร.บ. หรือ พ.ร.บ.รถหาย มีผลทำให้ไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้ และไม่สามารถขอรับค่าเสียหายได้ เราจึงเก็บรักษาไว้ให้ดี และควรถ่ายสำเนาไว้เผื่อสูญหาย แต่ถ้า พ.ร.บ.รถหาย ไปและหาไม่พบ อีกทั้งไม่ได้ทำสำเนาไว้ ก็ไม่ต้องตกใจหรือไปหาซื้อใหม่ เพราะสามารถขอใหม่ได้จากบริษัทประกันภัยที่เราซื้อมานั่นเอง

ขั้นตอนการขอ พ.ร.บ. รถใหม่ เมื่อทำ พ.ร.บ.รถหาย

1.ไปสถานีตำรวจเพื่อทำบันทึกประจำวัน

2.ติดต่อบริษัทประกันภัยที่เราซื้อกรมธรรม์

3.ส่งมอบหลักฐานที่บริษัทประกันภัยต้องการ ได้แก่ สำเนาบันทึกประจำวัน สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของ พ.ร.บ.

4.รับสำเนา พ.ร.บ. จากบริษัทประกันภัย

    แต่ถ้าเราซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ ทางออนไลน์ และได้รับเอกสารทางอีเมล ก็ไม่ต้องกังวลเรื่อง พ.ร.บ. หาย เพราะเราสามารถพิมพ์ พ.ร.บ. ใหม่ได้จากอีเมล หรือถ้าหาไม่เจอ ก็สามารถติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อรอกรมธรรม์ทางอีเมลได้

บทความ

วิธีเช็กใ…

วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์

      วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ https://ptm.police.go.th ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่ามีใบสั่งจราจรค้างจ่ายกี่ใบ พร้อมทั้งดำเนินการชำระค่าปรับผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที
      จากกรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลแถลงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายจราจร และไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด จนอาจทำไปสู่การถูกออกหมายจับ ซึ่งปัจจุบันมีผู้กระทำผิดไม่ไปชำระค่าปรับเป็นจำนวนมาก ทั้งยังคงมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำซาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหาจราจรตามมา โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา และสามารถตรวจสอบย้อนหลังใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ (ระยะเวลา 1 ปี) โดยเน้นกรณีกระทำผิดซ้ำซากก่อน

วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์ ผ่านเว็บของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

1.เข้าเว็บไซต์ https://ptm.police.go.th/eTicket

2.ลงทะเบียนผู้ใช้งาน โดยกรอกหมายเลขบัตรประชาชน, หมายเลขใบขับขี่ หรือหมายเลขทะเบียนรถ

3.ดำเนินการเข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งไว้

4.ค้นหาใบสั่งโดยระบุวันที่กระทำผิด จากนั้นกดปุ่ม “ค้นหา” (สามารถกรองข้อมูลด้วยเลขทะเบียนรถหรือหมายเลขใบสั่งได้)

5.หน้าจอจะปรากฏรายการใบสั่งที่เคยได้รับ โดยสามารถคลิกดูรายละเอียดของใบสั่งแต่ละฉบับได้ (กรณีได้รับใบสั่งมากกว่า 1 คัน จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครอบครองคนเดียวกัน)

6.ดำเนินการชำระค่าปรับออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT หรือชำระที่สถานีตำรวจ,​ ธนาคารกรุงไทย, สาขาของไปรษณีย์ไทย, ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทยหรือตู้บุญเติม

   ทั้งนี้ ยังคงมีประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่าตนเองได้รับใบสั่งจราจร เช่น กรณีเปลี่ยนที่อยู่, มีการซื้อ-ขายรถยนต์ไปแล้วแต่ยังไม่โอนเป็นชื่อเจ้าของใหม่ และอื่นๆ โดยปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำเว็บไซต์ตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ ptm.police.go.th ที่สามารถแสดงประวัติการได้รับใบสั่งจราจร ตรวจสอบการค้างชำระค่าปรับ และดำเนินการชำระเงินได้ทันที

บทความ

6 ข้อควรร…

6 ข้อควรรู้ก่อนที่ดินตกไปเป็นของคนอื่น

      ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ และมักจะก่อให้เกิดข้อพิพาทอยู่เสมอ โดยการครอบครองปรปักษ์ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ระบุว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” 

1.การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น เช่น โฉนด โฉนดตราจอง หรือเอกสารกรรมสิทธิ์ประเภทอื่น ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองจะไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ แม้จะครอบครองนานแค่ไหนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ 


2.หากเป็นผู้เช่า ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ เพราะเป็นการทำสัญญาเช่าอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดิน  

3.การครอบครองนั้นต้องทำโดยเปิดเผยและสงบ หรือเป็นการครอบครองที่ไม่ได้มีการข่มขู่ ใช้กำลัง หลอกลวง และไม่มีใครหวงห้ามกีดกันในการแสดงความเป็นเจ้าของหรือฟ้องร้องขับไล่ 

4.ผู้ครอบครองปรปักษ์ครบ 10 ปี ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามมาตรา 1382 แล้ว แม้ศาลจะยังไม่ได้มีคำสั่งว่าผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ หากมีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิของผู้ครอบครองเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ผู้ครอบครองมีอำนาจฟ้องได้ (อย่างไรก็ตามเพื่อความสมบูรณ์ในผลของกฎหมายควรดำเนินการร้องศาลเพื่อจดทะเบียนสิทธิ์) 

5.หากเจ้าของที่ดินอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร จะไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ 

6.ผู้ซื้อที่อยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขาย ไม่นับเป็นการครอบครองปรปักษ์

บทความ

โอนรถข้าม…

โอนรถข้ามจังหวัดทะเบียนเดิม ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

    อีกหนึ่งข้อสงสัยที่ถูกถามบ่อย ๆ ว่าสามารถโอนข้ามจังหวัดทะเบียนเดิมได้ไหม คำตอบคือ “ได้” นะครับ เพียงทำเรื่องส่งไปยังสำนักขนส่งแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ขอใช้ทะเบียนรถเดิม” แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะให้กรอกใบคำขอเพื่อเป็นหลักฐานว่าเจ้าของรถขออนุญาตให้รถในพื้นที่นั้นๆ

    เพราะการโอนรถยนต์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพ บางครั้งผู้ขายกับผู้ซื้ออาจจะอยู่กันคนละจังหวัดกัน ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการโอนรถยนต์ข้ามจังหวัด กรมการขนส่งก็อนุญาตให้โอนรถข้ามจังหวัดได้ ซึ่งเอกสารที่ใช้ในการโอนรถข้ามจังหวัดทั้งผู้โอนและผู้รับโอนต้องเตรียมมาอย่างละชุด 

โอนรถยนต์ข้ามจังหวัด ต้องใช้เอกสาร ดังนี้

1.สำเนาทะเบียนเล่มรถยนต์

2.สำเนาทะเบียนบ้านผู้โอน และผู้รับโอน

3.สำเนาบัตรประชาชนผู้โอน และผู้รับโอน

4.หนังสือมอบอำนาจ

5.แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนแล้ว

โอนรถยนต์กี่บาท โอนรถยนต์ข้ามจังหวัดเสียเท่าไหร่?

   ไม่ว่าจะโอนรถยนต์ในจังหวัดเดียวกันหรือการโอนรถยนต์ข้ามจังหวัดมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโอนรถยนต์เท่ากัน ดังนี้

1.ค่าธรรมเนียมในการโอนรถยนต์ 100 บาท

2.ค่าคำขอในการโอนรถยนต์ 5 บาท

3.ค่าเปลี่ยนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ (ถ้าอยากเปลี่ยน) 200 บาท

4.ค่าเปลี่ยนทะเบียนเล่มรถยนต์ (ถ้าชำรุดเสียหาย) 100 บาท

5.ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ต่อการประเมินราคารถยนต์ 100,000 บาท

บทความ

 กฎหมายน้…

กฎหมายน้ำหนักรถบรรทุก 2567

      หลายคนคงเห็นข่าวรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด จนทำให้ถนนทรุดตัว สร้างความเสียหาย และความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ยิ่งเป็นถนนในกรุงเทพฯ ก็จะยิ่งทำให้การจราจรติดขัดเข้าไปอีก คนขับรถบรรทุกและเจ้าของรถบรรทุกทุกคน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายน้ำหนักรถบรรทุก คอยอัปเดตข้อมูลข่าวสาร หรือกฎหมายรถบรรทุกอื่น ๆ อยู่เสมอ เพราะแม้คุณจะไม่ใช่คนขับ ถ้าเจ้าหน้าที่สืบสวนพบว่าเจ้าของรถบรรทุกมีส่วนรู้เห็น ก็จะถูกดำเนินคดีได้ด้วยเช่นกัน

 

         แม้รถบรรทุกแต่ละคันจะมีความสามารถในการบรรทุกของได้มาก แต่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายน้ำหนักรถบรรทุกอย่างเคร่งครัด โดยบทลงโทษกรณีบรรทุกน้ำหนักเกินตาม พรบ.ทางหลวง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

บทความ

วิธีเช็คร…

วิธีเช็ครายชื่อ มิจฉาชีพ 2567 ออนไลน์

        เดี๋ยวนี้การสั่งซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งสะดวกสบาย ส่งของรวดเร็วทันใจ แถมยังจ่ายเงินง่าย หรือจะเก็บเงินปลายทางก็ยังได้ แต่ข้อดีก็มักมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพมาหลอกได้ เช่น สั่งของแล้วไม่ได้ของ หรือของไม่ตรงปก มีพัสดุเก็บเงินปลายทางทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ หัวจะปวดกับสารพัดวิธีที่มิจฉาชีพหาทางโกง ดังนั้น จึงควรตรวจสอบรายชื่อ และเช็คบัญชีมิจฉาชีพให้ดี ก่อนตัดสินใจโอนเงินทุกครั้ง โดยมีวิธีดังนี้

1.ตรวจสอบรายชื่อผ่าน Google

       นำชื่อคนขาย หรือชื่อของเจ้าของบัญชีไปค้นหาบน Google หากเคยโกง หรือมีประวัติ ก็จะมีรายละเอียดเตือนภัยว่า บัญชีนี้เคยมีประวัติอย่างไรบ้าง

2.ตรวจสอบรายชื่อผ่าน Social Media

      นอกจากตรวจสอบรายชื่อมิจฉาชีพผ่าน Google แล้วยังสามารถเช็คผ่าน Social Media ได้อีกด้วย เพราะตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ คนที่เคยโดนโกง มักจะมาแชร์ข่าวสารเพื่อเตือนภัยไว้อยู่เสมอ

3.เช็คผ่านเว็บไซต์ Blacklistseller

      เพิ่มความสะดวกสบายไปอีกขั้น เพราะเดี๋ยวนี้ สามารถเช็คเลขบัญชีของมิจฉาชีพได้ โดยผ่านเว็บไซต์ Blacklistseller ซึ่งจะมีการระบุข้อมูลของมิจฉาชีพอย่างละเอียด ทั้งชื่อบัญชี รายชื่อ ตั้งแต่ขั้นตอนซื้อขายจนไปถึงขั้นตอนโอนเงิน 

4.เช็คผ่านเว็บไซต์ ฉลาดโอน

     หากอยากตรวจสอบว่าเป็นคนที่เราซื้อขายด้วยเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ก็สามารถเช็คผ่านเว็บไซต์ ฉลาดโอน
ได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบข้อมูล ชื่อบัญชีเลขบัญชี เบอร์โทร sms ของผู้รับโอน ว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ที่สำคัญ ยังสามารถแจ้งข้อมูลคนโกงได้อีกด้วย 

5.เช็คผ่านเว็บไซต์ เช็คก่อน

     อีกเว็บไซต์ที่สามารถตรวจเช็ครายชื่อมิจฉาชีพได้คือ เว็บไซต์ช่องทางใหม่ เช็คก่อน ซึ่งสามารถตรวจสอบเบอร์โทร เลขบัญชี พร้อมเพย์ เพื่อเช็คว่า บัญชีที่เราโอนเงินไปเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ โดยเราต้องกรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร เบอร์พร้อมเพย์ หมายเลขโทรศัพท์ หรือ URL เว็บไซต์ ที่ต้องการจะตรวจสอบก่อนโอน และสามารถแจ้งเบาะแสคนโกงได้ 

6.เช็คคนโกงจากเบอร์โทรศัพท์

     อีกวิธีฮอตฮิต ที่สามารถสแกนมิจฉาชีพได้ดีจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเบอร์โทรศัพท์ โดยยังคงโทรมาหลอกลวงพร้อมมุกใหม่ ๆ ด้วยแอปพลิเคชัน ที่ทุกเครื่องขาดไม่ได้คือ

Whoscall – ตรวจสอบเบอร์โทรและ SMS แจ้งเตือนมิจฉาชีพ

Truecaller – ตรวจสอบแหล่งที่มาของคนโทร โดยเฉพาะจากต่างประเทศ

บทความ

การเล่นแช…

การเล่นแชร์ผิดกฎหมายไหม

        ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 การเล่นแชร์ คือ การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป โดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย

สมาชิกวงแชร์มีใครบ้าง

       สมาชิกวงแชร์จะมีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายหลัก ๆ ดังนี้

1.ท้าวแชร์ คือ สมาชิกในวงแชร์คนหนึ่งทำหน้าที่รับเงินจากสมาชิกทุกคน มาเก็บรักษาเอาไว้เป็นเงินกองกลาง และจัดการให้สมาชิกได้รับเงินกองกลางตามวิธีที่ตกลงกันไว้

2.ลูกแชร์ คือ บุคคลที่ตกลงร่วมกันเล่นแชร์ โดยแต่ละคนมีหน้าที่ต้องส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่ตกลงกัน เข้าทุนกองกลางให้ครบเป็นงวด ๆ ไป เพื่อให้สมาชิกในวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป

การเล่นแชร์ผิดกฎหมายไหม

      หลายคนอาจเคยเห็นโฆษณาเชิญชวนให้ร่วมเล่นแชร์ออนไลน์ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แต่ตามกฎหมายการเล่นแชร์ ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ดังนั้น การร่วมเล่นแชร์ในวงแชร์ต่าง ๆ ไม่ผิดกฎหมาย แต่จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป 

 

บทความ

บุคคลล้มล…

บุคคลล้มละลายคืออะไร

     บุคคลล้มละลาย คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จนศาลพิพากษาสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

     บุคคลล้มละลายทุจริต คือ กรณีที่บุคคลล้มละลายกระทำการฉ้อฉล หรือมีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินของตัวเอง เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามที่ควรจะเป็น เช่น การจำหน่าย โอนย้าย หรือให้ผู้อื่นซ่อนเร้นทรัพย์สินของตัวเองเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ยึด หรืออายัดทรัพย์สินนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือเจ้าหนี้พิสูจน์ได้ว่า บุคคลล้มละลายมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ศาลอาจพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

สาเหตุของการเป็นบุคคลล้มละลาย


1.เป็นบุคคลธรรมดา มีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท

2. เป็นนิติบุคคล มีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านบาท

3. เป็นผู้ที่มีแนวโน้ม มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ ไม่มีความสามารถที่จะชำาระหนี้ได้

การตกเป็นบุคคลล้มละลายส่งผลอะไรต่อชีวิตบ้าง ?

1.ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร การโอนเงิน การถอนเงิน เป็นต้น

2. ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับราชการได้

3. ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัท หากมีความจำเป็น จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน จึงจะดำรงตำแหน่งได้
4.ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ถ้าความจำเป็นจริงๆต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน

การพันสภาพจากบุคคลล้มละลายมีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง ?

ㆍมีคำสั่งปลดจากการเป็นบุคคลลัมลาย

ㆍ การล้มละลายจะถูกปลดทันที เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีหลังถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่หากเคยล้มละลายมาก่อน อาจถูกยืดระยะเวลาออกไปเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี

ㆍ หลังจากที่มีคำสั่งปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย สามารถกลับไปใช้ชีวิต และได้รับสิทธิ์ในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ (หลุดพันจากภาระหนี้ที่ต้องชำระ) ยกเว้นในส่วน
หนี้สินที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร / หนี้สินที่เกิดขึ้นจากการทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย

บทความ

3 อาชีพที…

3 อาชีพที่ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติหรืออนุมัติยากมาก

1.อาชีพสีเทา 
     ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้จากหวยใต้ดิน, เปิดบ่อนการพนัน, การปล่อยเงินกู้นอกระบบ และอาชีพที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายต่างๆ โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์มักจะน้อยมาก

2.ธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์
     ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจที่มีหน้าร้านหรือไม่มีหน้าร้าน รวมถึงการประกอบธุรกิจออนไลน์ หากว่าไม่มีการจดทะเบียนพาณิชย์ (หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่าจดทะเบียนการค้า) ก็มักจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์ เนื่องจากถูกมองว่าไม่มีความมั่นคง ไม่มีหลักแหล่งกิจการที่ชัดเจน และไม่สามารถตรวจสอบแหล่งรายได้อย่างตรงไปตรงมา เสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงได้

3.อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์
      อันที่จริงแล้วผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือ Freelance ยังพอมีโอกาสได้รับการอนุมัติสินเชื่อ เพียงแต่จะมีเงื่อนไขมากกว่าผู้ที่ทำงานประจำนิดหน่อย โดยจะต้องเน้นเอกสารที่แสดงถึงรายรับที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง (เช่น Statement บัญชีธนาคาร) รวมถึงหลักฐานการประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ เช่น สัญญาว่าจ้าง, ใบเสนอราคา, ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย, หนังสือรับรองการทำงาน (กรณีมีสังกัดชัดเจน), สัญญาเช่าสถานที่, โฉนดที่ดิน, ภาพถ่ายหน้าร้าน และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะอาชีพของผู้กู้แต่ละราย

บทความ

จะเกิดอะไ…

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อขาดต่อพ.ร.บ.

   การมี พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) เป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถทุกคนในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองทั้งในด้านกฎหมายและความปลอดภัยทางการเงิน หากคุณขาดต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ จะมีผลกระทบหลายด้าน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ 

1.มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

     การขาดต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบว่า พ.ร.บ. ของรถยนต์ของคุณหมดอายุ คุณจะถูกปรับเป็นเงินสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท การจ่ายค่าปรับนี้ถือเป็นการเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นและสามารถหลีกเลี่ยงได้หากต่อ พ.ร.บ. ให้ทันเวลา

2.ไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้

      การต่อภาษีรถยนต์ประจำปีเป็นข้อบังคับตามกฎหมาย ซึ่งต้องทำพร้อมกับการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ดังนั้นหากคุณขาดต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ คุณจะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ ส่งผลให้การใช้งานรถยนต์ของคุณไม่ถูกต้องตามกฎหมายและอาจถูกปรับเพิ่มเติม

3.หากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง

      พ.ร.บ. รถยนต์มีบทบาทสำคัญในการให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในกรณีเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยต่างๆ หากคุณขาดต่อ พ.ร.บ. และเกิดอุบัติเหตุ คุณจะไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ. ซึ่งอาจทำให้คุณต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงมาก

4.ไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ. และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เองทั้งหมด

     เมื่อขาดต่อ พ.ร.บ. คุณจะไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งในกรณีที่คุณเป็นผู้บาดเจ็บเองหรือมีผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุที่คุณเป็นฝ่ายผิด ซึ่งหมายความว่าคุณต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายได้ในกรณีที่ต้องหยุดงาน หรือแม้แต่ค่าชดเชยให้กับผู้ประสบภัยอื่นๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจมีมูลค่าสูงมากและเป็นภาระทางการเงินที่หนักหน่วง

      การขาดต่อ พ.ร.บ. มีผลกระทบอย่างมากต่อความปลอดภัยทางการเงินและความคุ้มครองทางกฎหมายของคุณ การต่อ พ.ร.บ. ให้ทันเวลาเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้คุณได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมและไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดการคุ้มครอง นอกจากนี้ยังเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและป้องกันการถูกปรับที่ไม่จำเป็น