3 หลักการ ในการแก้หนี้ให้ได้ผลยั่งยืน
การแก้หนี้ที่เหมาะสมเพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ มี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ
1.ทำอย่างครบวงจร
ให้เหมาะกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเมื่อประสบปัญหาการชำระหนี้ เพื่อกันปัญหาวนซ้ำเป็นงูกินหาง
2.ทำถูกหลักการ
มีแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ รู้ว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ รวมถึงทำในเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียในระยะยาว ดังนี้
แก้ให้ตรงจุด เพราะการทำมาตรการแบบเหวี่ยงแห/เป็นวงกว้างนานเกินไป จะทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถนำทรัพยากรไปช่วยผู้ที่เดือดร้อนหนักกว่าได้ และต้องแก้ให้เหมาะกับสถานการณ์/ปัญหาของลูกหนี้ เช่น การให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อแก้ปัญหารายได้ในช่วงวิกฤต แม้มีข้อดีที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น แต่ต้องระวังการเกิดปัญหาหนี้ที่อาจชำระไม่ได้ในระยะยาว กลายเป็นหนี้เรื้อรังหรือหนี้เสีย ทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบยากขึ้น
ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ เช่น พักชำระหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นเพียงการผลักปัญหาไปในอนาคต เพราะหนี้เดิมไม่ลดและมีภาระเพิ่มจากดอกเบี้ยที่เดินอยู่ตลอดด้วย รวมถึงอาจเสียวินัยทางการเงินเพราะชินกับการไม่ต้องจ่ายหนี้และอาจก่อหนี้เพิ่ม ขณะที่เจ้าหนี้อาจมีสภาพคล่องไม่พอปล่อยสินเชื่อใหม่ หรือช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริง ๆ
ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ลบประวัติข้อมูลเครดิต ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประวัติลูกหนี้ในการพิจารณาสินเชื่อ จนไม่กล้าปล่อยกู้ ทำให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยากขึ้น หรือหากกู้ได้ จะโดนคิดดอกเบี้ยแพง
ตั้งใจจริง เจ้าหนี้ต้องร่วมใจช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้เหมาะกับลูกหนี้แต่ละราย และลูกหนี้ต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหนี้ ปฏิบัติตามสัญญาใหม่อย่างมีวินัย และบริหารเงินอย่างถูกต้อง
3.ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน
เพื่อแก้ปัญหาหนี้ให้ครบทุกประเภท ทั้งหนี้ที่ ธปท. กำกับดูแล ซึ่งคิดเป็น 4 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนในระบบ ได้แก่ หนี้ที่อยู่กับ ธพ. SFIs และนอนแบงก์ และหนี้ส่วนอื่น เช่น หนี้สหกรณ์ หนี้ กยศ. และหนี้กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงหนี้นอกระบบ จึงต้องการความร่วมมือจากผู้กำกับดูแลหนี้ประเภทต่าง ๆ รวมทั้งภาครัฐอื่น ๆ เจ้าหนี้ภาคเอกชน และที่สำคัญตัวลูกหนี้เอง เพื่อให้การแก้หนี้เกิดขึ้นได้ครบวงจร และเห็นผลตามเป้าหมายของการแก้หนี้ให้ยั่งยืน ที่สำคัญ ต้องแก้ปัญหาจากมิติด้านรายได้ และรัฐสวัสดิการ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเกษตร เช่น ชลประทานการเกษตร และประกันภัยพืชผล ควบคู่ด้วย
ขอบคุณเนื้อหาดีๆจาก 3 หลักการ ในการแก้หนี้ให้ได้ผลยั่งยืน | Financial Landscape (bot.or.th)